เข้าพรรษา ถวาย “เทียน” หรือ “หลอดไฟ” อะไรได้บุญมากกว่ากัน?





เชื่อว่าคำถามนี้ น่าจะเป็นหนึ่งในคำถามสำคัญที่ค้างคาใจของใครหลายคน ที่เข้าไปทำบุญกันในวัด และพบเห็นพุทธศาสนิกชนหลายคน ปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการทำบุญจาก การถวายเทียน มาเป็น หลอดไฟ  เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ ที่โลกทั้งโลกกำลังหมุนเปลี่ยนผ่านไปอย่างรวดเร็วแบบนี้  

[ads]

ป้าแก้ว (สงวนนามสกุล)  พุทธศาสนิกชนรายหนึ่ง ที่หาโอกาสเข้าวัด ทำบุญอยู่เป็นประจำ กล่าวแสดงความเห็นกับ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า การทำบุญด้วยหลอดไฟ เป็นเรื่องที่ทำกันมานานแล้ว ไม่จำเป็นต้องเข้าพรรษาหรอก ใครไปวัดทำบุญตอนนี้ เขาก็นิยมทำกัน เพราะมันให้ประโยชน์มากกว่าเทียนพระสงฆ์ใช้ประโยชน์ได้มากกว่า

“ป้าทำบุญด้วยหลอดไฟ เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งของที่พระสงฆ์ สามารถใช้ประโยชน์ได้มากกว่าหลอดไฟ โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว ยุคสมัยมันเปลี่ยนไป เราก็ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองให้ทันสมัย การทำบุญก็เหมือนกัน” ป้าแก้วยังย้ำด้วยว่า “เมื่อก่อนบ้านเรา ยังไม่เจริญ โดยเฉพาะในช่วงที่พระสงฆ์จำพรรษาในวัดช่วงเข้าพรรษา เทียนเป็นสิ่งสำคัญมาก ช่วยให้แสงสว่างในการปฏิบัติกิจต่างๆ ของพระสงฆ์ในวัด และที่สำคัญราคาหลอดไฟถูกกว่าเทียนเยอะเลย”

   “ตอนนี้ ทุกอย่างมันไม่เหมือนเดิมแล้ว วัดหลายแห่งมีไฟฟ้าเข้าถึง พระใช้ไฟฟ้ากันหมดแล้ว มีการใช้เทียนน้อยมาก เทียนกลายเป็นสิ่งของที่ใช้กันแค่ช่วงที่ทำพิธีกรรมทางศาสนาเท่านั้นแหละ" 

เมื่อถามว่า ระหว่าง เทียน กับหลอดไฟ ถวายอะไร ได้บุญมากกว่ากัน?

ป้าแก้ว ตอบว่า “ทุกอย่างมันก็ได้บุญเหมือนกัน ทุกอย่างมันอยู่ที่ใจ เพียงแค่เราปรับเปลี่ยนอะไร ให้มันเข้ากับยุคสมัยนิดหน่อยเท่านั้นเอง ”จากการตรวจสอบข้อมูลใน  วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี เกี่ยวกับวันเข้าพรรษา พบว่า มีการระบุ เรื่องการถวายหลอดไฟ ในช่วงวันเเข้าพรรษาด้วย

 “ในวันเข้าพรรษาและช่วงฤดูพรรษากาลตลอดทั้ง 3 เดือน พุทธศาสนิกชนชาวไทยถือเป็นโอกาสอันดีที่จะบำเพ็ญกุศลด้วยการเข้าวัดทำบุญใส่บาตร ฟังพระธรรมเทศนา ซึ่งสิ่งที่พิเศษจากวันสำคัญอื่น ๆ คือ มีการถวายหลอดไฟหรือเทียนเข้าพรรษา และผ้าอาบน้ำฝน (ผ้าวัสสิกสาฏก) แก่พระสงฆ์ด้วย เพื่อสำหรับให้พระสงฆ์ได้ใช้สำหรับการอยู่จำพรรษา”

ภาพ:Shutterstock

ขณะที่ พระที "ปัญญสโก ภิกขุ" คณะ ๓/๓ วัดพลับ  ให้ความเห็นเรื่องการทำบุญด้วยเทียน และหลอดไฟไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

"ทำไมจึงมีการถวายเทียน ในอดีตเขาเอาเทียนไปทำอะไร  เขาก็เอาไปใช่จุดให้เกิดแสงสว่างขึ้นเพื่อใช้ทำกิจกรรมต่างๆ  เช่นว่า ถ้าหากวัดนั้นๆ มีการลงโบสถ์ สวดปาฏิโมก กันในตอนค่ำ ก็จะต้องมีการจุดเทียนให้เกิดแสงสว่างเพื่อให้สามารถมองเห็นใบลาน ที่บันทึกพระปาฏิโมก (ในส่วนของพระผู้ทานปาฏิโมก)  นี้เป็นเหตุการณ์ในอดีต ที่ยังไม่มีไฟฟ้า และแม้นจึงจะมีไฟฟ้าใช้กันแล้วในปัจจุบัน  หลายๆวัดก็ยังคงมีการจุดเทียนสองธรรม จนกลายเป็นธรรมเนียมไปแล้ว"

"ทีนี้ในปัจจุบัน เรามีไฟฟ้าใช้กันแล้ว และมีความสว่างมากกว่าด้วย จะเห็นได้ในบางครั้งช่างไฟก็จะบอกว่า หลอดนี้มีกำลัง 20 แรงเทียนบ้าง 30 แรงเทียนบ้าง เห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจน ไม่อย่างนั้นเราก็คงจะต้องใช้เทียนเป็นจำนวนมากในการที่จะใช้แสงมาก แต่ปัจจุบันมีหลอดไฟแล้ว  จึงเป็นที่นิยมทุกคนก็ยอมรับกัน นำมาใช้กัน เรื่องจึงแตก แตกเป็นการถวายเทียน และการถวายหลอดไฟฟ้า

   พระที "ปัญญสโก ภิกขุ" คณะ ๓/๓ วัดพลับ  ยังระบุด้วยว่า การถวายเทียน เป็นการกระทำกันมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันก็ยังคงมีการถวายกันอยู่ มองแล้วเป็นเรื่องที่ดี  ที่ยังคงมีการรักษาขนบทำเนียมประเพณีวัฒนธรรมของไทย ให้ชาวโลกได้เห็น เห็นอะไร เห็นในความสำคัญ  เห็นในความศรัทธาของคนไทยในศาสนาพุทธ  เห็นในความรักความสามัคคี ความพร้อมเพรียงกันของคนในสังคม อาจจะเป็นสังคมเล็กๆ เป็นสังคมหมู่บ้าน  ที่ยังคงพูดพันกันอย่างเหนียวแน่น

   "แต่ ณ ปัจจุบัน อาจจะมีข้อสงสัย ในการทำบุญถวายเทียน เมื่อโลกเปลี่ยนไป หลายคน เปลี่ยนเป็นถวายหลอดไฟแทน อาจจะเพราะชัดเจนในการที่หวังว่าพระจะนำไปใช้ ด้วยความประสงค์ ที่จะให้เกิดประโยชน์  หรือได้ถูกนำไปใช้งานอย่างจริงจังของผู้ที่ถวาย ทำให้ในปัจจุบันก็ได้มีถวายกันมาก  แต่ก็ยังคงเป็นแต่หลอดไฟนีออนยาวๆ เท่านั้น ซึ่งในการใช้งานจริง ก็มีหลากหลาย"

"ทั้งนี้และทั้งนั้น  การถวายทั้งสองแบบ ทั้งสองอย่างก็ดีทั้งนั้น ได้บุญ กันทั้งนั้น   เป็นในส่วนของผู้ที่ต้องการทำบุญ ต้องการสละจาคะ ต้องการเอาชนะมัจฉริยะความตระหนี่ถี่เหนียว   ก็สามารถไปทำบุญกันที่วัด ถวายกันได้เลย จะถวายเป็นการส่วนตัวของเราเอง ก็ได้  หรือจะคอยถวายร่วมประเพณีของวัดนั้นๆก็สามารถทำได้"

แต่ถ้าจะถามว่าถวายเทียน กับ ถวายหลอดไฟ มีอานิสงค์ ต่างกันอย่างไร คงไม่ต่างกัน เพราะในประโยชน์ ทั้งของหลอดไฟ และต้นเทียน ก็เพื่อให้เกิดแสงสว่าง ตรงตามความหมายของคำว่า "ประทีป"

ขอบคุณเนื้อหาจาก:www.isranews.org

 

 

 

 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: