“โหระพา” ปลูกง่าย ต้นทุนนิดเดียว กำไรงาม[วิธีปลูก]





โหระพา (Basil ) จัดเป็นพืชผักที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับกระเพรา และแมงลัก แต่ใบจะมีกลิ่นหอมเฉพาะตัวจึงทำให้นิยมนำมาปรุงอาหารหลายชนิดเพื่อให้อาหารมีกลิ่นหอม และช่วยดับกลิ่นคาว รวมถึงการกินสดคู่กับอาหารชนิดอื่น นอกจากนั้น ใบโหระพาจะมีน้ำมันหอมระเหยจำนวนมากทำให้ใช้ใบไปสกัดน้ำมีันหอมระเหยเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องสำอาง

[ads]

การปลูกโหระพา

การปลูกโหระพาสามารถปลูกได้ 3 วิธี คือ การหว่านเมล็ด การย้ายพันธุ์กล้าหลังการหว่านเมล็ด และการปักชำกิ่ง แต่วิธีที่นิยมจะเป็นการหว่านเมล็ด และการย้ายพันธุ์กล้า

การเตรียมดิน

  • – ไถกลบดิน 2 รอบ แต่ละรอบตากดินนาน 5-7 วัน
  • – ไถยกร่องแปลง ขนาดกว้าง 1.5-2 เมตร ความยาวตามความเหมาะสม
  • – ก่อนไถยกร่อง ให้หว่านด้วยปุ๋ยคอกอัตรา 2-3 ตัน/ไร่ ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 30 กิโลกรัม/ไร่
  • – สำหรับแปลงเพาะกล้าโหระพา ให้ไถพรวนดิน และยกร่องในขนาดเดียวกัน และหว่านปุ๋ยคอก และปุ๋ยเคมีในสัดส่วนที่ลดลงมา

การเตรียมกล้า

  • – ทำการหว่านเมล็ดลงในแปลง ให้เมล็ดมีการกระจายตัวประมาณ 3-5 ซม.
  • – หลังหว่านให้ใช้คราดเกลี่ยหน้าดินบางๆ แล้วคลุมด้วยฟางข้าวบางๆ
  • – ให้รดน้ำหลังหว่านเมล็ด และรดน้ำทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง
  • – เมล็ดจะเริ่มงอกภายใน 5-7 วัน หลังหว่านเมล็ด
  • – ดูแลกล้าโหระพาจนมีความสูงได้ประมาณ 10-15 ซม. หรืออายุประมาณ 20-25 วัน ค่อยถอนกล้าย้ายปลูกลงแปลง
  • – ก่อนถอนปลูก ให้รดน้ำก่อน 1 วัน
  •  

ขั้นตอนการปลูกโหระพา

  • – ระยะปลูก 20-30 x20-30 ซม.
  • – ขุดหลุมด้วยเสียมลึกประมาณ 5 ซม. หรือ ลึกให้กลบโคนต้นขึ้นมา 2-3 ซม.
  • – หลังปลูกเสร็จ รดน้ำให้หน้าดินชุ่ม

   สำหรับการปลูกโหระพาเพื่อรับประทานเองในครัวเรือนที่ปลูกเพียงไม่กี่ต้น เกษตรกรนิยมปลูกด้วยการหว่านเมล็ดในพื้นที่ว่างภายในบ้าน ด้วยการขุดพรวนดิน และกำจัดวัชพืช หลังจากนั้น จะหว่านเมล็ดจำนวนน้อยลงแปลง แล้วรดน้ำให้ชุ่ม

   หากเมล็ดเกิดถี่ เกษตรจะย้ายถอนกล้าไปปลูกตามที่ว่างจุดอื่น และคงเหลือต้นให้มีระยะห่าง 20-30 ซม. ไว้ นอกจากนั้น ในบางครัวเรือนมักนำกล้าที่ถอนแยกได้นำมาปลูกในกระถาง กระถางละ 1-2 ต้น ซึ่งสามารถย้ายวางได้ในทุกจุด

การใส่ปุ๋ย

– หลังปลูก 7-14 วัน หรือหลังที่กล้าตั้งต้นได้ โดยให้หว่านด้วยปุ๋ยเคมีสูตร 24-12-12 อัตรา 25 กิโลกรัม/ไร่ และหว่านอีกครั้งหลังครั้งแรก 2-3 เดือน ในอัตราเดียวกัน

– ให้หว่านปุ๋ยคอกร่วมด้วยกับการใส่ปุ๋ยเคมีในครั้งแรก อัตราที่ 1-2 ตัน/ไร่

การให้น้ำ

– ระยะหลังปลูก 7-15 วัน จะให้น้ำทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง

– เมื่อกล้าตั้งต้นได้จะค่อยๆลดปริมาณน้ำลง โดยจะให้ 3-5 ครั้ง/สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับฤดู และความแห้งของหน้าดิน จนถึงการเก็บเกี่ยว

การเก็บยอด และใบ

– หลังจากปลูกลงแปลงแล้วประมาณ 1 เดือน ก็สามารถทยอยเก็บยอดได้

– การเก็บยอดเพื่อจำหน่าย จะเก็บยอดจากกิ่งให้มีความยาวประมาณ 20-30 ซม.

– การเก็บยอด ควรใช้มีดหรือกรรไกรตัด ไม่ควรใช้มือเด็ด เพราะกิ่ง และใบจะซ้ำง่าย หรือ บางครั้งอาจทำให้ต้นถอนขึ้นมาได้ แต่การเก็บเพื่อรับประทานเองไม่จำเป็นต้องใช้มีดหรือกรรไกร

– ให้ทยอยเก็บจากกิ่งที่อยู่ด้านล่างก่อน และทยอยเก็บเป็นช่วงๆ

โรค และแมลงโหระพา

1. โรคเหี่ยว

เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อรา Fusarium oxysporum ทำให้ใบดำ และเหี่ยวตาย แก้ไขได้โดยฉีดยากำจัดเชื้อรา

2. โรคใบเน่า

เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อรา Erwinia sp. เกิดอาการใบเป็นแผล บริเวณแผลมีน้ำ และเมือก และแผลจะค่อยๆขยายใหญ่ลุกลามไปทั่วไปจนเน่าตาย

3. โรคใบจุด

เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อรา Alternaria sp. ที่ชอบเกิดในช่วงฤดูฝนโดยจะพบอาการที่ใบมีจุดสีน้ำตาลเข้มถึงดำ ใบจะค่อยเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และร่วงตามมา และจะเกิดบริเวณใบล่างก่อน แล้วค่อยรุกลามจนถึงใบส่วนยอด

4. หนอนผีเสื้อห่อใบ

เป็นระยะตัวอ่อนของผีเสื้อในระยะหนอนที่ชอบกัดกินใบ ด้วยการปล่อยเส้นใยให้ใบม้วนมาพับกันเพื่อคลุมลำตัว แล้วจะค่อยๆกัดกินใบด้านในบริเวณผิวใบ และจะเปลี่ยนใบใหม่จนถึงยอด

ขอบคุณเนื้อหาจาก:http://puechkaset.com

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: