เผยโฉมรถรางไฟฟ้า”ภูเก็ต” คาดเริ่มสร้างปี’61-สร้างเสร็จภายใน3ปี





 

“รายงานวันจันทร์”-ยกระดับ “ภูเก็ต” เป็นศูนย์กลางอันดามัน
จังหวัดภูเก็ต ไข่มุกแห่งอันดามัน เศรษฐกิจกำลังขยายตัวแบบก้าวกระโดด ล่าสุดสถิติมีนักท่องเที่ยวถึง 15 ล้านคน/ปี ดังนั้น รัฐบาลจึงส่งเสริมให้ภูเก็ตเป็นศูนย์กลางท่องเที่ยวนานาชาติ โดยเร่งพัฒนาระบบขนส่งทุกระบบเพื่อรองรับ หนึ่งในนั้นคือโครงการรถไฟฟ้ารางเบา (Tramway)

โดยมีสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ดำเนินการศึกษาความเหมาะสม ขณะนี้การศึกษาเกือบจะเสร็จสมบูรณ์ และเห็นเป็นรูปร่างชัดเจน ซึ่งคุณ ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผอ.สนข. มีข้อมูลชี้แจงให้ทราบผ่าน “รายงานวันจันทร์”

ถาม-ที่มาของรถไฟฟ้ารางเบา
ผอ.สนข.–ตามแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งของประเทศระยะเร่งด่วน ปี 2560 มีทั้งหมด 36 โครงการ วงเงินลงทุน 8.9 แสนล้านบาท หนึ่งในนั้นคือโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต เพื่อรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก สนข.ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสม และสอบถามความเห็นประชาชนในพื้นที่ พบว่า ส่วนใหญ่ไม่เอาระบบลอยฟ้า เพราะบดบังทัศนียภาพเมืองและได้ข้อสรุปว่า ระบบขนส่งมวลชนที่เหมาะสมก็คือ รถไฟฟ้ารางเบา หรือรถราง (Tram) ระดับดินตลอดแนวเส้นทาง บนทางหลวงหมายเลข 402 หรือถนนเทพกระษัตรี ตั้งแต่ท่านุ่น–ห้าแยกฉลอง ระบบรางคู่ โดยประชาชนกว่าร้อยละ 80 เห็นด้วยกับโครงการและเร่งรัดให้ดำเนินการโดยเร็ว ผลการศึกษาจะแล้วเสร็จภายในเดือน มี.ค.นี้ คาดว่าจะดำเนินการได้ปลายปีนี้ เริ่มก่อสร้างปี 2561 ใช้เวลา 3 ปี

ถาม-รายละเอียดโครงการ
ผอ.สนข.–เส้นทางรถราง เริ่มจากท่านุ่น บริเวณสะพานสารสิน เชื่อมจังหวัดพังงากับภูเก็ต ข้ามสะพานไปตามแนวเกาะกลางถนนเทพกระษัตรี ช่วงท่านุ่น–ประตูเมืองภูเก็ต ใช้ระบบรางเดี่ยว เมื่อถึงแยกสนามบินภูเก็ต แนวเส้นทางจะเบี่ยงออกทางซ้าย ตีโค้งเปลี่ยนเป็นยกระดับเข้าสนามบินเพื่อรับผู้โดยสาร เมื่อออกจากสนามบินแนวเส้นทางจะกลับสู่เกาะกลางถนนตามเดิม เป็นระบบรางคู่ ช่วงผ่านจุดตัดทางแยกจะใช้รูปแบบทางลอดมีทั้งหมด 6 จุด แนวเส้นทางไปสิ้นสุดที่ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 60 กม.

มีทั้งหมด 24 สถานี ได้แก่
1. สถานีท่านุ่น
2. สถานีท่าฉัตรไชย
3. สถานีประตูเมืองภูเก็ต
4. สถานีท่าอากาศยานภูเก็ต
5. สถานีเมืองใหม่
6. สถานีโรงเรียนเมืองถลาง
7. สถานีถลาง
8. สถานีอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร
9. สถานีเกาะแก้ว
10. สถานีขนส่ง
11. สถานีราชภัฏภูเก็ต
12. สถานีทุ่งคา
13. สถานีเมืองเก่า
14. หอนาฬิกา
15. สถานีบางเหนียว
16. สถานีห้องสมุดประชาชน
17. สถานีสะพานหิน
18. สถานีดาวรุ่ง
19. สถานีศักดิเดชน์
20. สถานีวิชิต
21. สถานีเจ้าฟ้า–ตะวันออก
22. สถานีป่าหลาย
23. สถานีโคกตนด และ
24. สถานีฉลอง

ตัวรถรางมีลักษณะเหมือนรถไฟ น้ำหนักเบากว่า ขบวนรถยาว 30 เมตร กว้าง 2.40 เมตร ใช้ไฟฟ้าจากสายด้านบน ขนาด 750 V ในเขตนอกเมือง ความเร็วสูงสุด 80-100 กม. ต่อ/ชม. ช่วงในเมืองความเร็วสูงสุด 20-40 กม.ต่อ/ชม. ความจุขบวนรถ 200 คน ค่าโดยสาร 18 บาท +2.5 บาท/กม. เฟสแรกจะทำจากท่าอากาศยานภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง มูลค่า 23,000 ล้านบาท รูปแบบลงทุนแบบ PPP มอบให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินการ เริ่มก่อสร้างปี 2561 ใช้เวลา 3 ปี เป็นรถรางสายแรกในภูมิภาค ซึ่งรัฐบาลจะทำให้เห็นเป็นรูปธรรมเร็วที่สุด

ข่าวจาก : ไทยรัฐออนไลน์

 

 

 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: